ชนิดของฐานราก และการเลือกใช้ฐานรากที่ถูกต้อง

ฐานรากแบบไหนเหมาะ

ฐานรากเป็นชิ้นส่วนของอาคารแรกที่ต้องก่อสร้าง และยังเป็นโครงสร้างหลักในการรับน้ำหนักทั้งหมดที่ถ่ายมาจากอาคารลงสู่ดิน ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ที่สุดเนื่องจากอยู่ใต้ดิน การซ่อมแซมหลังใช้อาคารเป็นไปได้ยากและมีราคาแพงที่สุด การก่อสร้างฐานรากให้มั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักอาคารตลอดอายุการใช้งานถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

โดยทั่วไปฐานรากที่เรานิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้างแบบออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ฐานรากที่ไม่ต้องใช้เสาเข็มในการรองรับ (ฐานแผ่) และฐานรากที่ใช้เสาเข็มรองรับ การที่เจ้าของอาคารจะเลือกใช้ฐานรากชนิดไหนนั้น ต้องดูคุณสมบัติของดินเป็นสำคัญ ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นหน้าที่ของบริษัทเจาะสำรวจดินที่จะบอกเราได้ว่าดินบริเวณที่เราจะก่อสร้างเหมาะกับฐานรากชนิดไหน

ประเภทของฐานรากที่นิยมใช้

ฐานรากแผ่

ฐานรากแผ่

ฐานรากเสาเข็ม

ฐานรากชนิดรองรับด้วยเสาเข็ม

1.ฐานรากแผ่ (shallow foundation)

ฐานรากชนิดนี้เป็นฐานรากที่ก่อสร้างได้ง่ายที่สุด ไม่ซับซ้อน ลดขั้นตอนการก่อสร้างเสาเข็มไป ทำให้การก่อสร้างรวดเร็วและประหยัดงบประมาณการก่อสร้าง แต่มีข้อจำกัดในการเลือกใช้  คือ  ต้องก่อสร้างบนพื้นดินที่เป็นดินแข็ง  ไม่ควรก่อสร้างบนชั้นดินอ่อน เพราะอาจทำให้โครงสร้างอาคารทรุดเสียหายได้

พื้นที่ที่นิยมก่อสร้างฐานรากชนิดนี้ได้แก่ ภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย ที่มีดินเป็นดินภูเขา หิน และดินทราย เป็นต้น หากเจ้าของอาคารต้องการทราบว่าดินในพื้นที่ สามารถก่อสร้างฐานรากแบบฐานแผ่ได้หรือไม่ ให้ปรึกษาวิศวกรคุมงาน หรือวิศวกรผู้ออกแบบอาคาร  หากอยากทราบค่ากำลังในการรับน้ำหนักบรรทุกของดิน มีวิธีคร่าวๆ ที่ทำให้เราทราบค่าได้ โดยระบุไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ดังนี้

กำลังรับน้ำหนักบรรทุกแบกทานของดิน

ตารางแสดงกำลังรับน้ำหนักบรรทุกแบกทานของดิน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

2.ฐานรากชนิดรองรับด้วยเสาเข็ม (Pile Footing)

ฐานรากชนิดรองรับด้วยเสาเข็ม (Pile Footing) คือ ฐานรากที่แบกรับน้ำหนักที่ถ่ายลงมาจากตัวอาคารทั้งหมด แล้วจะถ่ายน้ำหนักลดสู่ตัวเสาเข็มก่อน จากนั้นเสาเข็มก็จะทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนักลงสู่ชั้นดินที่ลึกลงไป การเลือกใช้ฐานรากต้องมีเสาเข็มมารองรับนี้ ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านขนาดน้ำหนักที่บรรทุกว่ามีมากเกินกว่าคุณสมบัติของดินที่จะได้รับหรือไม่

หากคุณสมบัติของดินในท้องถิ่นนั้นๆ อ่อนตัวมากๆ ถ้าไม่ใช้เสาเข็มรองรับ ก็อาจจะทำให้อาคารทรงตัวอยู่ไม่ได้ เนื่องจากปลายของเสาเข็มไม่ได้จบลงไปถึงชั้นดินแข็งด้านล่าง ซึ่งภาษาช่าง เรียกกันว่า ชั้นดินดาน นั่นเองฐานรากชนิดนี้นิยมใช้ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น

ประเภทของฐานรากเข็ม จำแนกประเภทตามพฤติกรรมการรับแรงของเสาเข็ม

ฐานรากชนิดรองรับด้วยเสาเข็ม ยังแบ่งประเเภทตามพฤติกรรมการรับแรงได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.ฐานรากเสาเข็มสั้น (Friction Pile) เป็นฐานรากที่แบกรับน้ำหนักไม่มากนัก และก่อสร้างอยู่บนชั้นดินอ่อน โดยอาศัยแรงต้านทานจากความฝืด(Friction Force) ของดินเหนี่ยวรอบๆเสาเข็มที่ต้านทานการกดเอาไว้ ไม่ให้เสาเข็มทรุดตัว โดยมากตามท้องตลาดจะมีความยาวไม่เกิน 6 เมตร การตอกจะใช้แรงงานคนช่วยกันขย่อม หรือใช้เครื่องจักรเบา เช่นรถแบ็คโฮว์ขนาดเล็กกดให้เสาเข็มจมลง ประเภทโครงสร้างที่นิยมใช้เสาเข็มประเภทนี้ ได้แก่ ฐานรับถังเก็บน้ำขนาดไม่เกิน 6,000 ลิตร ลานจอดรถ เป็นต้น

วิธีความสามารถในการรับน้ำหนักของเสาเข็มแบบต้านทานด้วยแรงฝืด (Friction Pile) ยกตัวอย่างเช่น เสาเข็ม ขนาด 6นิ้ว ยาว 6 เมตร จะคำนวณได้โดยการคำนวณเส้นรอบรูปเสาเข็ม คูณความยาวเสาเข็ม แล้วคูณกับค่าแรงฝืดที่กำหนด เช่น

  • เสาเข็มขนาด 6 นิ้ว ยาว 6 เมตร จะรับน้ำหนักปลอดภัยได้ 1,700 กิโลกรัม/ตัน
  • เสาเข็มขนาด 5 นิ้ว ยาว 5 เมตร จะรับน้ำหนักปลอดภัยได้ 1,200 กิโลกรัม/ตัน
  • เสาเข็มขนาด 4 นิ้ว ยาว 4 เมตร จะรับน้ำหนักปลอดภัยได้ 750 กิโลกรัม/ตัน
  • เสาเข็มขนาด 3 นิ้ว ยาว 3 เมตร จะรับน้ำหนักปลอดภัยได้ 400 กิโลกรัม/ตัน

2.ฐานรากเสาเข็มยาว (Bearing Pile) เป็นฐานรากที่ต้องแบกรับน้ำหนักมาก และนิยมก่อสร้างในพื้นที่ที่อยู่บนชั้นดินอ่อน โดยเสาเข็มจะมีพฤติกรรมในการรับแรงร่วมกัน 2 แบบ ได้แก่ การต้านทานจากความฝืด(Friction Force) ของดินเหนี่ยวรอบๆเสาเข็ม ร่วมกับ การแบกรับน้ำหนักที่ปลายเสาเข็ม (End Bearing) ซึ่งหยั่งถึงชั้นดินดาน หรือดินแข็ง จึงทำให้ฐานรากประเภทนี้มีการทรุดตัวที่ต่ำกว่าฐานรากเสาเข็มสั้นอยู่มาก ฐานรากประเภทนี้นิยมก่อสร้างสำหรับโครงสร้างดังนี้ อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

พฤติกรรมเสาเข็มสั้นกับยาว

รูปพฤติกรรมการรับแรงของเสาเข็ม แต่ละประเภท

ประเภทของเสาเข็ม

⊗เข็มตอกคอนกรีตอัดแรง Pre-stress Concrete Pile

เสาเข็มคอนกรีตหล่อสำเร็จรูป Precast Concrete Pile เป็นเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงที่หล่อจากโรงงาน ผลิตโดยอาศัยเทคนิคการดึงลวดรับแรงดึง Pre-tension Method แล้วเทคอนกรีตลงในแบบหล่อ ในขณะที่แรงดึงในเส้นลวด Tendon ยังคงค้างอยู่ เมื่อคอนกรีตแข็งตัวจนได้กำลังอัดตามเกณฑ์แล้ว จึงตัดลวดรับแรงดึงออก โดยปกติการถ่ายกำลังจากลวดรับแรงดึงสู่คอนกรีต

เมื่อคอนกรีตอายุครบ 28 วัน คุณสมบัติของคอนกรีต เมื่อทดสอบด้วยรูปทรงลูกบาศก์ขนาด 15x15x15 เซนติเมตร ต้องมีกำลังอัดประลัย (Compressive Strength)ไม่ต่ำกว่า 420 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (ksc) หรือเมื่อทดสอบด้วยรูปทรงกระบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว สูง 12 นิ้ว ต้องมีกำลังอัดประลัยไม่ต่ำกว่า 350 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (ksc) กำลังดึงประลัยสูงสุดของลวดต้องไม่ต่ำกว่า 17,500 กก./ตร.ซม.

เสาเข็มชนิดนี้ เป็นเสาเข็มที่ราคาประหยัด ทำงานได้รวดเร็ว เป็นที่นิยม และมีผู้ผลิตแพร่หลาย มีหน้าตัดหลายแบบเช่น สี่เหลี่ยมตัน รูปตัวไอ รูปวงกลม ข้อเสียหลักของการใช้เข็มตอกก็คือ ระหว่างการตอก จะเกิดการสั่นสะเทือนมากกว่าเข็มอื่นๆ

ความยาวของตัวเสาเข็ม ขึ้นอยู่กับประเภทดินของเขตนั้นๆ พื้นที่ที่ใกล้แม่น้ำหรือเป็นแอ่งมาก่อน จะมีความจำเป็นต้องตอกให้ลึกกว่าพื้นที่อื่น กรณีที่ไม่มีความแน่ใจ นอกจากจะสามารถสอบถามเทศบาลแล้ว ยังสามารถเลือกสอบถามข้างบ้านว่ามีการเลือกวางเข็มที่ความลึกเท่าไร หรือใช้วิธีเจาะสำรวจดินสำหรับโครงสร้างที่รับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ เพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น

⊗เสาเข็มเจาะ Boring Pile

ปัจจุบันเป็นที่นิยม วิธีการไม่ยุ่งยาก เนื่องจากการก่อสร้างในเขตชุมชนอาคารจะสร้างติดกัน การตอกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงอาจเกิดการสั่นสะเทือน สร้างความเสียหายต่ออาคารข้างเคียงได้ จึงเหมาะกับบ้านที่ก่อสร้างติดกัน หรือกรณีที่พื้นที่ทางเข้าแคบมาก รถใหญ่ไม่สามารถเข้าได้

การใช้เสาเข็มเจาะเหมาะกับสถานการณ์ที่หลากหลายกว่า เสาเข็มเจาะที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 35-60 เซนติเมตร. สามารถเจาะได้ลึกประมาณ 20-30 เมตร ซึ่งเป็นชั้นทรายชั้นแรกที่มีน้ำใต้ดินอยู่ ทำให้เจาะลึกกว่านี้ไม่ได้ เราจึงเรียกเสาเข็มเจาะขนาดเล็กนี้ว่าเป็น ระบบเจาะแห้ง Dry Process

เสาเข็มเจาะที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 60 เซนติเมตร ขึ้นไป สำหรับความลึกตั้งแต่ 25-60 เมตร เป็นระบบเจาะเปียก Wet Process ส่วนมากเป็นเสาเข็มที่ใช้สำหรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่มาก เช่น สะพานลอยฟ้า สะพานทางหลวง อาคารสูงมาก เป็นต้น

สำหรับระบบแบบเปียกนั้น ใช้ในกรณีที่ชั้นดินมีน้ำใต้ดิน ซึ่งน้ำใต้ดินจะดันให้หลุมที่เจาะพังทลายได้ จึงต้องใส่น้ำผสสารละลายเบนโทไนต์ Bentonite ลงไปในหลุมเจาะด้วย เพื่อทำหน้าที่ต้านทานน้ำใต้ดินและเคลือบผิวหลุมเจาะไม่ให้พัง

คลิปตัวอย่างเสาเข็มเจาะ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สรุป

  1. ฐานรากแผ่เลือกใช้ในกรณีที่ดินรับน้ำหนักบรรทุกแบกทานได้สูง
  2. ฐานรากรับโครงสร้างเล็กๆน้ำหนักไม่มาก สามารถก่อสร้างด้วยฐานรากแบบเสาเข็มสั้น (Friction Pile) ได้
  3. กรณีดินอ่อน ฐานรากต้องเป็นแบบเสาเข็มยาว ลึกไปถึงชั้นดินดาน
  4. หากก่อสรา้งใกล้กับอาคารข้างเคียง ควรเลือกใช้เป็นเสาเข็มเจาะ เพื่อลดการสั่นสะเทือน แทนการใชเสาเข็มตอกคอนกรีตอัดแรง
จักรกริสน์

สนใจให้เราออกแบบโครงสร้าง/

ควบคุมงานก่อสร้าง

 

(สามารถฝากข้อความทางไลน์ได้ครับ หากไม่สะดวกโทรหา)

 

ปุ่มไลน์

โทร. 085-044-5515

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *